วันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

นวัตกรรมและเทคนิควิธีการทางการศึกษา

นวัตกรรมและเทคนิควิธีการทางการศึกษา

การนำเทคโนโลยีในรูปของเครื่องมือและเทคนิควิธีการ (Techniques) หรือ กระบวนการ (Processes) ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านการบริหารจัดการทางการศึกษาเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งนอกเหนือจากการใช้เพื่อการเรียนการสอนเท่านั้น เครื่องมือและเทคนิควิธีการ หรือกระบวนการต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการทางด้านการศึกษา หรือการสร้างสถานการณ์ของการเรียนการสอนที่ต่างไปจากปัจจุบันที่กระทำอยู่เป็นปกติวิสัยเรียกได้ว่าเป็น "Education Innovation" หรือ "นวัตกรรมทางการศึกษา" และในการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพ (Quality Improvement Plan) หรือ QI Plan สำหรับสถานศึกษาจึงควรนำนวัตกรรมทางการศึกษามาใช้

นักการศึกษาไทยในอดีตได้แปลคำว่า Innovation เป็นภาษาไทยแตกต่างกัน เช่น แปลว่า "นวกรรม" และ "นวัตกรรม" เป็นต้น ทั้งนี้หมายถึง "Innovation" ในภาษาอังกฤษนั่นเอง ในปัจจุบันคำแปลเป็นภาษาไทยได้กำหนดเป็นที่ยอมรับแล้วให้ใช้คำว่า "นวัตกรรม " การกำหนดว่าอะไรเป็น "นวัตกรรม" นั้นมีหลักในการพิจารณาได้ดังนี้

1. เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน การใช้เทคโนโลยีที่ไม่เคยมีมาก่อนไม่ว่าจะเป็นรูปของการใช้เครื่องมือหรือ Mediaware ร่วมกับเทคนิควิธี (Techniques) หรือ เฉพาะเทคนิควิธีอย่างเดียวในการจัดสถานการณ์การเรียนการสอน ถือได้ว่าเป็น Educational Innovation อย่างหนึ่ง

2. เป็นสิ่งสำคัญที่มีอยู่แล้วแต่มิได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการศึกษามาก่อน แต่ต่อมาได้นำมาใช้ทางการศึกษาถือว่าเป็น Educational Innovation เช่นกัน

3. เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว และเคยนำมาใช้ทางการศึกษาแล้วไม่ได้รับความนิยมในช่วงเวลาหนึ่ง ได้นำกลับมาใช้อีกครั้งในเงื่อนไขและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ก็ถือว่าเป็น Educational Innovation

4. เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วและใช้อยู่อย่างได้ผลดีในสังคมอื่น หรือประเทศอื่น แล้วนำมาใช้ในอีกสังคมหนึ่งหรืออีกประเทศหนึ่ง ถือว่าเป็น Educational Innovation

5. เป็นการพัฒนาปรับปรุงรูปแบบของเทคนิควิธีที่มีอยู่หรือสื่อที่มีอยู่ในลักษณะต่างจากต้นแบบเพื่อใช้ในการศึกษาให้เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเทคโนโลยี ก็ถือว่าเป็น Educational Innovation อีกเช่นกัน

จากหลักเกณฑ์ข้างต้นสามารถวิเคราะห์ได้ว่า Educational Innovation ส่วนมากเป็นการนำของเดิมที่มีอยู่แล้วนำมาใช้อย่างเหมาะสมให้มีประสิทธิภาพทางการศึกษา สำหรับการคิดสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนทั้งในรูปแบบของวิธีการและเครื่องมือเป็นการส่งเสริมให้มีความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ซึ่งไม่สามารถจะสร้างให้เกิดขึ้นได้ทุกคน ในสภาพการณ์ปัจจุบันทั้งเครื่องมือและวิธีการที่ใช้ในการสอนหรือฝึกคน มีมากเพียงพอกับความต้องการ สิ่งที่ขาดคือความสามารถในวิธีการใช้เครื่องมือและวิธีการที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดทั้งด้านปริมาณ คุณภาพ และคุ้มค่ากับการลงทุน และในการพิจารณาถึงนวัตกรรมมักมองถึงสิ่งที่เป็นเครื่องมือหรือวัตถุเป็นสำคัญ โดยมักจะมองข้ามเทคนิควิธีการหรือกระบวนการไป ซึ่งเทคนิควิธีการหรือกระบวนการนั้นก็เป็นนวัตกรรมที่มีคุณค่าได้เช่นกัน ซึ่งอาจไม่ต้องใช้เงินลงทุนในการนำมาใช้เลยก็ได้




นวัตกรรมกับเทคนิควิธี


นวัตกรรม (Innovation) และ เทคนิควิธีการ (Techniques) หรือ กระบวนการ (Processes) มีความสัมพันธ์กันมาก ในการศึกษาวิชาเทคโนโลยีทางการศึกษาจะเป็นการศึกษาเรื่องของการใช้วัสดุ (Software) อุปกรณ์ (Hardware) ซึ่งมีลักษณะเป็นการใช้เครื่องมือ หรือ Mediaware และรวมถึงการใช้เทคนิควิธีการ (Techniques) ต่าง ๆ ที่จะทำให้การทำงานบรรลุจุดมุ่งหมาย นวัตกรรมการศึกษาเป็นการนำเอาเทคนิควิธีการ และเครื่องมือ หรือ Mediaware ที่มีอยู่และสร้างขึ้นใหม่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการศึกษา และเทคนิควิธีการที่เป็นกระบวนการ หรือระบบการสอนซึ่งมีพื้นฐานทางด้านหลักการและทฤษฎีทางการเรียนรู้ วิธีการเชิงระบบ และการสื่อสาร เพื่องานการศึกษา ซึ่งมีทั้งการเรียนการสอน การบริหารจัดการ ลักษณะหนึ่งของนวัตกรรมทางการศึกษานั้น ต้องมีความทันสมัยอยู่เสมอ นวัตกรรมทางการศึกษาเมื่อ 5-10 ปี ที่ผ่านมาอาจไม่ใช่นวัตกรรมทางการศึกษาในปัจจุบันก็ได้ เนื่องจากเวลาที่เปลี่ยนไปทำให้นวัตกรรมที่เป็นของใหม่ในช่วงเวลาหนึ่งกลายเป็นของเก่าในอีกช่วงเวลาหนึ่งและจะแปรสภาพไป

คอมพิวเตอร์เพื่อการศึกษา

นวัตกรรมทางการศึกษาในปัจจุบันส่วนมากเป็นการนำเอา Computer เข้ามามีส่วนในการเรียนการสอน การบริหารและการจัดการ (Computer-assisted Instruction หรือ CAI และ Computer-managed Instruction หรือ CMI) ในทางการศึกษา Computer นอกจากได้นำมาเป็นเนื้อหาวิชาในการเรียนการสอนเกี่ยวกับตัว Computer เองแล้วยังได้นำมาใช้ในฐานะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง เช่น นำมาใช้ช่วยการสอน (CAI) ได้แก่บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน และนำมาใช้ในการบริหารและการจัดการ (CMI) ได้แก่ การทำกำหนดการและตารางเรียน ใช้บันทึกข้อมูลและตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว ในการจัดทำงบประมาณ ใช้ในการผลิตเอกสาร และใช้ในการวางแผนและออกแบบการสอนที่ต้องใช้ Computer มีส่วนร่วม หรือใช้คอมพิวเตอร์เป็นฐานของการสอน (Computer-based Instruction) เช่น สื่อประสม (Multimedia) หรือ E-learning และ Web-based Instruction รวมทั้ง Computer-assisted Learning (CML) และ Computer-managed Learning (CML) เป็นต้น การนำเอา Computer มาใช้ในการศึกษาจะเหมือนกับนวัตกรรมประเภทอื่น ๆ เมื่อถึงเวลาหนึ่งที่ Computer ได้รับการปรับปรุงหรือดัดแปลง ทดสอบ ทดลอง จนได้ผลและนำมาใช้จนเป็นปกติวิสัยแล้ว Computer จะไม่ใช่นวัตกรรมอีกต่อไปแต่จะกลายเป็นเทคโนโลยี



นวัตกรรมกับเทคโนโลยี

ฉะนั้น เมื่อนวัตกรรมถูกใช้จนเป็นปกติวิสัยแล้วจะกลายเป็นเทคโนโลยีไปอีก และจะเป็นอย่างนี้เรื่อย ๆ ไป ในวงการของการศึกษาและอุตสาหกรรม รวมทั้งวงการอื่น ๆ จึงมักจะใช้คำว่า Innovation ควบคู่ไปกับ Technology การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในสถานศึกษาส่วนมากจะเริ่มจากการนำไปใช้ในสำนักงานเพื่อการบริหารจัดการให้มีความเข้มแข็งก่อน แล้วจึงสามารถสร้างระบบงานและการใช้เทคโนโลยีไปสู่ชั้นเรียนหรือกระบวนการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ การใช้เทคโนโลยีในสำนักงานของสถานศึกษาและการใช้เทคนิควิธีหรือกระบวนการใหม่ ๆ ในการทำงานเป็นนวัตกรรมของระบบการศึกษาทั้งสิ้น นวัตกรรมเหล่านั้นอาจมีทั้งผลดีและสร้างผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ได้อีกเช่นกัน

กระบวนการของการเผยแพร่และยอมรับนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้เพื่อการศึกษา จึงเป็นศาสตร์ที่สำคัญอีกแขนงหนึ่งสำหรับนักเทคโนโลยีการศึกษาที่ต้องทำความเข้าใจในกระบวนการของการเผยแพร่และการยอมรับนวัตกรรมสำหรับการศึกษา ศาสตร์ดังกล่าวมีการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรระดับปริญาเอก หรือ Ph.D. (Technical Education Technology) หรือ ป.ร.ด. (เทคโนโลยีเทคนิคศึกษา) ภาควิชาครุศาสตร์เทคโนโลยี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และในหลักสูตรของสถานศึกษาบางแห่ง

การพัฒนาคุณภาพการศึกษา


การนำนวัตกรรมมาใช้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มีทั้งประสิทธิภาพ (Efficiency) และประสิทธิผล (Effectiveness) ในการทำงานอันนำไปสู่คุณภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม (Quality Improvement)ประสิทธิภาพหมายถึง การทำงานได้ถูกต้องตามระบบ หรือตามกระบวนการอย่างประหยัด ภายใต้สภาพแวดล้อมและทรัพยากรที่กำหนดไว้อย่างพอดี ส่วนประสิทธิผลหมายถึง การทำงานให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายได้อย่างถูกต้องครบถ้วน และคุณภาพหมายถึง ความเป็นเลิศ (Excellent) หรือพอดีกับความต้องการ (Fit to the Needs) ซึ่งต้องประกอบด้วยทั้งประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ถ้าขาดอย่างหนึ่งอย่างใดจะถือว่าการทำงานนั้นไม่มีคุณภาพ

การพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพ หรือ Quality Improvement Plan (QI Plan) จึงควรให้ความสำคัญกับการนำนวัตกรรมมาใช้กับงานด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพ และนวัตกรรมที่ควรนำมาใช้นั้นควรจะเป็นนวัตกรรมที่อยู่ในรูปแบบของเทคนิควิธีการ หรือ กระบวนการ มากกว่าที่จะเป็นในรูปแบบของเครื่องมือ หรือวัตถุ เพราะนอกจากจะต้องใช้เงินลงทุนมาก หรือเสียดุลการค้าเพราะต้องซื้อจากต่างประเทศแล้ว ยังต้องใช้เวลาสำหรับการปรับปรุง เรียนรู้ให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาและสร้างการยอมรับอีกด้วย แต่ถ้าเป็นนวัตกรรมในรูปแบบของเทคนิควิธีหรือกระบวนการนั้น สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ภายใต้บริบทของสังคมไทย หรือสถานศึกษาในแต่ละแห่งได้ นอกจากนั้นอาจไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากเหมือนกับการใช้นวัตกรรมในรูปของเครื่องมือ หรือวัตถุ ดังนั้นในการวางแผนเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา หรือ QI Plan จึงควรหันมาให้ความสนใจกับนวัตกรรมในรูปของเทคนิควิธีการ หรือกระบวนการดูบ้าง

รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น