วันศุกร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2554

ธรรมะเย็นใจ

บทความ เนื้อเรื่อง หรือ คำอธิบาย โดยละเอียด



ธรรมะเย็นใจ : สอนใจตัวเองก่อน

เมื่อเราเป็นผู้ใหญ่  เป็นครู  เป็นพ่อแม่

มีลูกน้อง มีลูกศิษย์ มีลูก

สมมติว่าเราเป็นพ่อแม่มีลูก

เมื่อลูกทำผิดจริง ๆ แล้วเราโกรธ ใจร้อน อย่าเพิ่งสอนลูก

สอนใจตัวเองให้ระงับอารมณ์ร้อน ให้ใจเย็น ใจดี

มีเมตตาก่อน จนรู้สึกมั่นใจว่าใจเราพร้อมแล้ว

และดูว่าลูกพร้อมที่จะรับฟังไหม ถ้าเราพร้อม

แต่ลูกยังไม่พร้อม ก็ยังไม่ต้องพูด เพราะไม่เกิดประโยชน์

เราพร้อมที่จะสอน เขาพร้อมที่จะฟัง

จึงจะเกิดประโยชน์เป็นการสอน

ถ้าเราสังเกตุดู บางครั้งใจเรารู้สึกเหมือนอยากจะสอน

แต่ความเป็ฯจริงแล้วเราเพียงอยากระบายอารมณ์ของเรา

สิ่งที่เราพูดแม้เป็นเรื่องจริง แต่ก็แฝงด้วยความโกรธ

เพราะยังเป็นความใจร้อน มีตัณหา

ถ้าใจเราโกรธ พูดเหมือนกัน พูดคำเดียวกัน นั่นคือโกรธ

ถ้าใจเราดี ใจเขาดี คำพูดของเราเป็นประโยชน์ นั่นคือ

สอน

เมื่อเราอยู่ในสังคม สิ่งที่ต้องระวังคือ หากเห็นใครทำผิด

อย่ายึดมั่นถือมั่นในความรู้สึกและความคิดของตน

อย่ายินดี อย่ายินร้าย ใจเย็น ๆ  ไว้ก่อน

พยายามอบรมใจตนเองว่า

ธรรมชาติของคนเรา มักจะมองข้ามความผิดของตนเอง

ชอบจับผิดแต่คนอื่น




มองเห็นความผิดของคนอื่นเหมือนภูเขา

เห็นความผิดตนเท่ารูเข็ม

ตดคนอื่นเหม็นเหลือทน

ตดตนเองเหม็นไม่เป็นไร

ปากคนอื่นเหม็นเหลือทน

ปากของตนเหม็นไม่รู้สึกอะไร
:
:

เรามักทุ่มใจ ไปอยู่ที่ความรู้สึกนึกคิดของตนเอง

อย่าเชื่อความรู้สึก อย่าเชื่ออารมณ์ อย่ายินดี ยินร้าย

พยายามรักษาใจเย็น  ใจดี ใจกลาง ๆ

ปกติเราทำผิดเหมือนกัน เท่ากัน หรืออาจจะมากกว่าเขา

แต่ความรู้สึกของเรามักจะมากกว่าเขา

และไม่เห็นความผิดของตัวเองเลยน่ากลัวจริง ๆ

สังเกตุดู คนที่ขี้บ่น ขี้โมโหว่าคนอื่นทำอะไรไม่ดี ไม่ถูก

ตัวของเขาเอง คิดดี พูดดี ทำดีไหม....ก็อาจจะไม่

เราเองก็เหมือนกัน เมื่อเราเกิดอารมณ์ไม่พอใจ

อย่าเชื่อความรู้สึกให้ระงับอารมณ์เสีย ทำใจเป็นกลาง ๆ

ไว้
:
:

อย่าเชื่อความรู้สึก

อย่าเชื่ออารมณ์

อย่ายินดียินร้าย
:
:

ธรรมะของพระอาจารย์มิตซูโอะ  เควสโก

วัดสุนันทวนาราม

บ้านท่าเตียน ตำบลไทรโยค อำเภอไทรโยค จังหวัด

กาญจนบุรี

จากหนังสือเหตุสมควรโกรธ....ไม่มีในโลก