วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

5 นวัตกรรมสิ่งทอสัญชาติไทยใช้ได้จริง

5 นวัตกรรมสิ่งทอสัญชาติไทยใช้ได้จริง Print E-mail
Written by เฉลิมพล ไชยรัตนชัชวาลย์   
06 Oct 08
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดตัว 5 นวัตกรรมฝีมือนักวิจัยไทย report1201.jpgผลิตเสื้อเกราะกันกระสุนจากเส้นใยพอลิเอสเตอร์ ผ้าปิดจมูกจากสารสกัดเปลือกมังคุดป้องกันเชื้อวัณโรคเป็นรายแรกของโลก ผลิตภัณฑ์เสื้อจากผงไหม ผ้าไม่ทอยับยั้งเชื้อโรค และการพัฒนาเส้นใยกล้วย
ผ้าปิดจมูกป้องกันเชื้อวัณโรสกัดจากมังคุด      รศ. ดร. พิชญ์ ศุภผล นักวิจัยจากวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า การวิจัยครั้งนี้เป็นการนำเทคโนโลยีในการทำเส้นใยนาโนขนาดเล็กโดยใช้กระแสไฟฟ้า มาพัฒนาเป็นแผ่นเส้นใยที่เป็นผ้าไม่ทอ (non woven) ซ้อนทับกันหลายๆ ชั้นจนมีขนาดรูพรุนช่องเล็กมาก สามารถใช้เป็นแผ่นกรองอากาศที่กรองอนุภาคขนาดเล็กได้ โดยการวิจัยนี้ได้นำสารสกัดจากเปลือกมังคุดซึ่งเป็นสมุนไพรไทยนำมาผสมในเส้นใย เพื่อเพิ่มคุณสมบัติในการป้องกันเชื้อวัณโรค 
ในการพัฒนาผ้าปิดจมูกดังกล่าว ทีมงานนำเส้นใยผสมกับสารสกัดจากเปลือกมังคุด แล้วใช้เทคโนโลยีการปั่นเส้นใยด้วยไฟฟ้าสถิตย์ ทำให้ได้เส้นใยขนาด 900 นาโนเมตร ซึ่งเคลือบด้วยสารสกัดเปลือกมังคุด จากนั้นนำไปทดสอบฤทธิ์การต้านทานเชื้อวัณโรค โดยเลี้ยงเชื้อในอาหารเลี้ยงเชื้อ 3 สัปดาห์ นำแผ่นเส้นใยผสมสารสกัดเปลือกมังคุดใส่ในน้ำเลี้ยงเชื้อ 3 สัปดาห์ จากการตรวจวิเคราะห์น้ำเลี้ยงเชื้อพบว่ามีเชื้อโรคหลงเหลือไม่ถึง 1% ชี้ให้เห็นว่าแผ่นเส้นใยผสมสารสกัดเปลือกมังคุดสามารถต้านเชื้อวัณโรคได้
 “ผลงานวิจัยครั้งนี้ได้ยื่นจดสิทธิบัตรในประเทศไทยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างจดสิทธิบัตรในสหรัฐฯ เพื่อรองรับการทำตลาดต่างประเทศในอนาคต พร้อมทั้งอยู่ระหว่างการเจรจากับภาคเอกชนถึงโอกาสที่จะผลิตในเชิงพาณิชย์ ในเบื้องต้นผู้ประกอบการต้องการให้ทดสอบคุณสมบัติคัดกรองเชื้อวัณโรคอย่างละเอียด โดยสามารถระบุขนาดอนุภาคเล็กที่สุดที่สามารถคัดกรองได้ การพัฒนาผ้าปิดจมูกป้องกันเชื้อวัณโรคนี้เป็นผลงานที่ต่อยอดจากงานวิจัยของ รศ.ดร. สุนีย์ สุขสำราญ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งศึกษาพบคุณสมบัติเด่นของสารสกัดเปลือกมังคุดที่สามารถต้านการกระจายตัวของเชื้อวัณโรค" นักวิจัยจากจุฬาฯ กล่าว
ผ้าไม่ทอยับยั้งเชื้อโรคเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไม่ทอ ที่มีคุณสมบัติป้องกันเชื้อโรค ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย โดยใช้สารนาโน ZnO ที่ได้จากการผลิตภายในประเทศ สามารถนำไปผลิตเป็นปลอกหมอนฆ่าเชื้อ ผ้าปูเตียงใช้แล้วทิ้ง และการพัฒนา Bio degradable ผลิตภัณฑ์ผ้าไม่ทอ (non woven) ที่สามารถย่อยสลายได้โดยใช้ Polylactic Acid (PLA) ทำให้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ ผลิตภัณฑ์ถุงผ้า ผ้าเย็น ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมเด็ก 
“Non woven เป็นผลิตภัณฑ์ที่เข้ามาแทนที่ระหว่างกระดาษกับผ้า เนื่องจากผ้ามีราคาค่อนข้างแพง ส่วนกระดาษใช้แล้วเปื่อยง่าย ผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้งจึงนิยมหันมาใช้ non woven แทน ขณะนี้ถือเป็นการพัฒนาขั้นต้น คงต้องพัฒนาต่อ เพราะต้นทุนยังสูงมาก แล้ววิธีที่เราทดลองเป็นวิธีที่ง่ายสุด กำลังทดลองวิธีใหม่ซึ่งถ้าทำสำเร็จจะช่วยลดต้นทุนและนำมาประยุกต์กับผลิตภัณฑ์ได้อีกหลายชนิดที่ใช้ในวงการแพทย์” คุณบัณฑิต ปัญญโชติรัตน์ บริษัท อนามัยภัณฑ์ จำกัด กล่าว
เส้นใยกล้วยในเชิงอุตสาหกรรม
ผศ. บุษรา สร้อยระย้า คณะเทคโนโยลีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร
เปิดเผยถึงการวิจัยนี้ว่าเป็นการพัฒนาเส้นใยกล้วยในแบบอุตสาหกรรม จากเดิมที่เคยมีแต่ในรูปแบบหัตถกรรม โดยเส้นใยกล้วยมีคุณสมบัติพิเศษคือ เป็นเส้นใยที่มีความมันเงา สวยงาม สามารถนำไปปั่นผสมกับเส้นใยอื่นๆ และผลิตเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม หรือผ้าเพื่อการใช้งานอื่นๆ โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อาทิ เนคไท สูท ผ้าปูโต๊ะ ผ้าม่าน ที่รองจาน หมอนอิง 
“อยากให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากกล้วย เพิ่มมูลค่าพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มาก ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้คิดถึงราคาต้นทุน แต่ถ้าทำมาแล้วแพงกว่าก็น่าพิจารณาและค่อยๆ ปรับปรุง อย่างน้อยก็ช่วยในเรื่องธรรมชาติ” ผศ. บุษรา กล่าว
report1202.jpgเสื้อผงไหมผิวเนียนนุ่ม สวมสบาย ไม่อับ การศึกษาจากเศษไหมและรังไหมที่เหลือใช้ นำมาผ่านขั้นตอนการแยกให้ได้สารเซริซินและไฟโบรอินซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในใยไหม และนำสารดังกล่าวผ่านกระบวนการลดขนาดให้ได้ขนาดนาโนและเคลือบลงบนผืนผ้า ซึ่งจะมีคุณสมบัติพิเศษในการสวมใส่ เช่น เพิ่มความชุ่มชื้น ทำให้สวมใส่สบาย และป้องกันรังสียูวี 
ดร. อภิชาติ สนธิสมบัติ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า กาวไหมเป็นของเหลือทิ้งที่ได้จากการลอกเส้นไหมดิบ และมีปริมาณถึง 30% ของน้ำหนักเส้นไหม จึงสนใจนำกลับมาใช้ประโยชน์กับสิ่งทอ โดยทดลองบดเป็นผงละเอียดซึ่งมีสีเหลืองนวล และตรวจวิเคราะห์พบมีคุณสมบัติเดียวกับผงไหมราคาแพง คือช่วยให้ผิวนุ่มชุ่มชื่น ดูดซับความชื้นได้ดี ทั้งยังช่วยสมานแผลและฆ่าเชื้อโรคได้ด้วย 
ทีมงานนำสารละลายผงกาวไหม1% ไปบีบอัดแล้วเคลือบบนเส้นใยพอลิเอสเตอร์ และนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อกีฬา พบว่า เสื้อผสมผงกาวไหมสวมใส่สบาย เนื่องจากดูดซับเหงื่อและความชื้นได้ประมาณ 10-12% ดีกว่าเสื้อผ้าพอลิเอสเตอร์ทั่วไปที่ดูดซับความชื้นได้เพียง 0.4% ทั้งยังให้ความรู้สึกถึงผิวหนังที่นุ่มชุ่มชื้น เมื่อเทียบกับการสวมเสื้อกีฬาทั่วไป ดร. อภิชาติ กล่าว 
ปัจจุบันทีมงานกำลังเสนอจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับกระบวนการผลิตผงกาวไหมอนุภาคนาโนและจะขยายสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะต้องศึกษาเพิ่มถึงเทกนิคการผลิตผงกาวไหมให้ได้ในปริมาณมาก จากปัจจุบันที่ผลิตได้ 200-300 กรัมต่อวัน ทั้งยังต้องทำให้ได้ในราคาถูก ที่สำคัญต้องคงคุณภาพของผงกาวไหมและเสื้อผ้าเคลือบผงกาวไหมให้เหมือนเดิมทุกครั้งหลังผ่านการซักล้าง ทั้งนี้ การผลิตผ้าเคลือบผงกาวไหมจะมีต้นทุนเพิ่มจากการใช้สารละลายผงกาวไหม โดยเสื้อ 1 ตัวคาดว่าใช้ผงกาวไหมเพียง 5 กรัม แต่จะขายในราคาที่เพิ่มขึ้น 60-80 บาทต่อชิ้น
     
report1203.jpgสื้อเกราะกันกระสุนสัญชาติไทย
ผลงานเสื้อเกราะกันกระสุน ฝีมือคณะนักวิจัยภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดย ผศ. ดร. สมประสงค์ ภาษาประเทศ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า เสื้อเกราะกันกระสุนเป็นการพัฒนาจากวัสดุภายในประเทศ 100% คือ เส้นใย PE, Nylon 6,6 และเส้นใยพอลิเอสเตอร์ นำมาประยุกต์และปรับปรุงคุณสมบัติทางเทกนิคทำให้ได้เสื้อเกราะกันกระสุนแบบเกราะอ่อนที่มีความหนา 80 ชั้น น้ำหนักประมาณ 4-4.5 กิโลกรัม สวมใส่ได้คล่องตัวมากกว่าเกราะแข็ง มีต้นทุนการผลิตเพียงตัวละ 20,000 บาท ในขณะที่เสื้อเกราะกันกระสุนที่ผลิตจากเส้นใยเคฟล่าของต่างประเทศมีราคาสูงถึงตัวละ 40,000  บาท แต่มีมาตรฐานใกล้เคียงกันและผ่านการทดสอบจากแผนกขีปนวิธี โรงงานวัตถุระเบิดทหาร กรมการอุตสาหกรรมทหาร โดยได้มาตรฐานระดับ 3A และจดสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว 
ทั้งนี้จะมีการผลิตเสื้อเกราะขึ้นอีก 10 ตัวเพื่อส่งไปทดสอบที่ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร กองบัญชาการสูงสุด จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อขอใบรับรองในการผลิตเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ คาดว่าภายใน 6 เดือนจากนี้จะสามารถผลิตออกมาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ 
"หัวใจสำคัญของเสื้อเกราะกันกระสุนชนิดนี้คือภายในมีเส้นใยสังเคราะห์ที่ผนึกกัน 80 ชั้น และมีโครงสร้างการทอที่เหมาะสมต่อการรับน้ำหนักกระสุน ลดแรงกระแทก เบี่ยงเบนทิศทางกระสุนและกระจายน้ำหนักไปรอบทิศทาง เนื่องจากเสื้อเกราะที่สามารถกระจายน้ำหนักกระสุนออกไปได้จะป้องกันอันตรายได้มากกว่าเสื้อเกราะที่ปะทะกระสุนโดยตรง ในครั้งนี้อยากขอบคุณสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และคุณมงคล มังกรกนก ที่ช่วยทำให้ผลงานวิจัยสามารถผลิตได้จริงในเชิงอุตสาหกรรม และทำให้งานวิจัยไม่ต้องขึ้นหิ้งเหมือนที่ผ่านๆ มา" ผศ. ดร. สมประสงค์ กล่าว 
ผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้มอบให้ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ดำเนินการทำวิจัยและนำผลการวิจัย เพื่อมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในเชิงการค้าอย่างต่อเนื่องในระหว่างปี 2549-2550 ซึ่งจะได้มีการพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น